โรคกรดไหลย้อน (gastroesophageal reflux disease or GERD) เกิดจากการที่กรดในกระเพาะอาหารไหลย้อนกลับขึ้นไปในหลอดอาหาร เนื่องจากหูรูดหลอดอาหารส่วนปลายที่กั้นระหว่างหลอดอาหารและกระเพาะอาหาร ทำงานผิดปกติ (เกิดการคลายตัวหรือเปิดกว้างมากเกินไป) ส่งผลให้กรดหรือของเหลวสามารถไหลจากกระเพาะอาหารไปยังหลอดอาหารได้ จึงทำให้เกิดอาการที่รบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน รวมไปถึงมีภาวะแทรกซ้อน
อาการของโรคกรดไหลย้อน แบ่งเป็น 2 กลุ่มหลัก ได้แก่
1. อาการที่แสดงทางหลอดอาหาร ได้แก่ อาการแสบร้อนบริเวณกลางอก หรือบริเวณลิ้นปี่อาจจะร้าวไปถึงลำคอ ทำให้เรอเปรี้ยว และ เรอขม มีอาการเจ็บแน่นหน้าอกที่ตรวจไม่พบสาเหตุจากโรคหัวใจ
2. อาการแสดงนอกหลอดอาหาร ได้แก่ อาการไอเรื้อรัง กล่องเสียงอักเสบ เสียงแหบ เจ็บคอ หอบหืดที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยาตามปกติ ฟันผุมี และกลิ่นปาก
ทั้งนี้สาเหตุหลัก เกิดได้หลายสาเหตุ ขึ้นอยู่กับความผิดปกติทางร่างกายของแต่ละบุคคล รวมไปถึงพฤติกรรมที่จะก่อให้เกิดโรคกรดไหลย้อน อาทิ คนที่มีน้ำหนักมาก ก็จะมีสภาวะกรดไหลย้อน ดังนั้นจึงเกิดขึ้นได้กับทุกคนและคนที่เคยเป็นมาก่อนก็มีโอกาสเกิดขึ้นได้อีก
วิธีการป้องกันเบื้องต้น
– ควรเว้นระยะการนอนหลังรับประทานอาหารประมาณ 3 ชั่วโมง
– รับประทานอาหารให้ตรงเวลา
– การลดน้ำหนัก ควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
หากสังเกตพบอาการดังกล่าว หรือไม่แน่ใจให้มาพบแพทย์เพื่อทำการตรวจอาการ ซึ่งในบางกรณี หากคนไข้มีอาการอื่นร่วมด้วย อาทิ กลืนอาหารแล้วติดอยู่ที่ลำคอ , กลืนลำบาก , น้ำหนักลด และอาเจียนเป็นเลือด อาจจะต้องทำการส่องกล้องเพื่อตรวจดูอาการ และทำการรักษาให้ถูกจุด ต่อไป
บทความโดย : นายแพทย์ศาศวัต วิริยะประสิทธิ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านทางเดินอาหาร โรงพยาบาลเวิลด์เมดิคอล